แผนกศัลยกรรมช่องปาก

แผนกศัลยกรรมช่องปาก

User Rating: 2 / 5

Star ActiveStar ActiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 
ถาม : แผนกศัลยกรรมช่องปากเปิดให้บริการเวลาใดบ้าง
ตอบ : วันจันทร์ - วันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการเวลา 8.30 –15.00 น.

ถาม : มีฟันคุด/ฟันฝัง จำเป็นต้องเอาออกหรือไม่
ตอบ : การไม่เอาฟันคุดออกอาจเกิดอันตรายได้ เช่น
- ปวดฟันคุด เนื่องจากทำความสะอาดเหงือกบริเวณนั้นได้ไม่ดีพอ ทำให้เหงือกอักเสบ บวม หากปล่อยการอักเสบให้เรื้อรังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามไปบริเวณอื่นได้
- ฟันข้างเคียงผุ หากฟันคุดขึ้นชนกับฟันซี่ข้างเคียง มักจะมีเศษอาหารติด หากทำความสะอาดได้ไม่มีก็จะทำให้ฟันผุได้
- ในฟันคุดที่ไม่ขึ้นมาในช่องปาก จะมีเยื่อหุ้มรอบฟันคุดอยู่ ซึ่งเยื่อหุ้มรอบฟันนี้อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกได้

ถาม : ภายหลังผ่าฟันคุดหรือผ่าตัดในช่องปาก ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ตอบ : กัดผ้าก๊อซให้แน่นบริเวณแผลเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ห้ามบ้วนน้ำ, น้ำลาย, อมน้ำแข็ง หรือพูดคุย   เพราะอาจทำให้เลือดไหลไม่หยุด เมื่อครบ 1 ชั่วโมงให้คายผ้าก๊อซทิ้ง ถ้ายังมีเลือดไหลออกมาก ให้กัดผ้าก๊อซผืนใหม่ต่ออีก 1 ชั่วโมง
- ห้ามกัดแก้ม ริมฝีปาก ใช้ลิ้นดุนหรือดูดบริเวณแผล เพราะจะทำให้แผลช้ำ และหายช้า
- ภายหลังการผ่าตัดอาจมีอาการบวมได้ประมาณ 3-4 วัน ให้ประคบเย็น ทุกๆครึ่งชั่วโมง เป็นเวลา 2 วัน หลังจากนั้นให้ประคบอุ่นต่อจนกว่าอาการบวมจะลดลง
- หลังจากเลือดหยุดไหล ควรทำความสะอาดช่องปากตามปกติ โดยการแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร และอมบ้วนปากเบาๆด้วยน้ำเกลือ เพื่อให้ช่องปากสะอาด ลดโอกาสติดเชื้อของแผลผ่าตัด
- ในระยะแรกควรรับประทานอาหารอ่อน งดอาหารรสจัด จนกว่าอาการปวดจะทุเลาลง
- งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ภายหลังการผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพราะจะทำให้แผลหายช้าและปวดแผล
- รับประทานยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์แนะนำ อาการปวดจะทุเลาลงภายใน 2-3 วัน
- รับประทานยาปฏิชีวนะตามที่ทันตแพทย์แนะนำจนหมด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น เลือดไหลผิดปกติหลังผ่าตัด หรือมีอาการปวดบวมมากขึ้น ให้กลับมาพบทันตแพทย์ได้ทันที

ถาม : ทำไมต้องผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน
ตอบ : การผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน จะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติที่กระดูกขากรรไกรร่วมด้วยนอกเหนือจากการเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติ เช่น มีคางยื่นมากผิดปกติ คางถอยหลังกว่าปกติ หรือคางเบี้ยว เป็นต้น ซึ่งการจัดฟันแบบปกติไม่สามารถแก้ไขความผิดปกติเหล่านี้ได้

ถาม : รากฟันเทียมมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร
ตอบ : ข้อดี
- เป็นฟันปลอมชนิดติดแน่นที่มีประสิทธิภาพการใช้งานและความสวยงามใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด
- ไม่ต้องกรอเนื้อฟันข้างเคียงเมื่อเทียบกับฟันปลอมติดแน่นชนิดสะพานฟัน
- ใช้งานได้สะดวกกว่าฟันปลอมชนิดถอดได้
- รากฟันเทียมมีการฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร จึงทำให้มีการคงสภาพ/การละลายตัวของกระดูกขากรรไกรใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ
ข้อเสีย
- ค่าใช้จ่ายสูงกว่าฟันปลอมชนิดอื่นๆ
- ต้องมีการผ่าตัดและขั้นตอนในการรักษาใช้เวลารวมนานกว่าฟันปลอมชนิดอื่น คือประมาณ 3-4 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่ารากฟันเทียมยึดแน่นกับกระดูกขากรรไกร จากนั้นจึงทำครอบฟันสวมทับ
- ในกรณีที่มีปริมาณกระดูกไม่เพียงพอในบริเวณที่ผ่าตัดฝังรากเทียม จะต้องเพิ่มขั้นตอนการผ่าตัดปลูกกระดูก ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายและเวลาที่ใช้ในการรักษาเพิ่มมากขึ้น
- รากฟันเทียมไม่สามารถรับรู้แรงกดได้เหมือนฟันธรรมชาติ เช่น เมื่อกัดโดนของแข็ง ในฟันธรรมชาติจะมี reflex ให้อ้าปากเพื่อป้องกันแรงที่กระทำต่อฟันมากเกินไปจนอาจเกิดฟันแตกได้