ประวัติกองทันตกรรม รพ.พระมงกุฎเกล้า

แลอดีตกองทันตกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

กองทันตกรรม รพ.พระมงุกฎเกล้า หน่วยงานทันตกรรมที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพบกและเป็นจุดเริ่มต้นของวิชาชีพทันตแพทย์ในประเทศไทย

 

หากย้อนไปในอดีตนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 สยามประเทศได้ส่งทหารไปช่วยรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรป ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2461 คณะหน่วยทหารเสนารักษ์ของไทย ได้เข้ารับการอบรมดูงานด้านทันตกรรม และได้นำความรู้มาสอนอบรมแก่พยาบาล เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังจากนั้น 11 ปี ในปี พ.ศ. 2472 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ทหารบกขึ้น  เพื่อผลิตทันตแพทย์ทหารขึ้นมา ต่อมาได้ล้มเลิกไป ในปี พ.ศ. 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของกองทัพบกเป็นอย่างมากจน พ.ต.หลวงธุรไวทยวิเศษ จึงได้เรียนต่อ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช  ขอโฮเต็ลพญาไทที่ตั้งอยู่ถนนราชวิถี ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ตั้งเป็นโรงพยาบาลทหารบก ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้ทรงพระราชทานวังพญาไท และสำนักงาน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้โอนที่ดิน 63 ไร่ 3 งาน 54 ตารางวา ให้กระทรวงกลาโหมจัดตั้งกองเสนารักษ์ที่ 1 และกองเสนารักษ์ที่ 2 มารวมกันที่พระราชวังพญาไทแล้วให้ชื่อใหม่ว่า “กองเสนารักษ์จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ” เปิดทำการเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2475

พ.อ.หลวงวาทวิทยาวัฒน์ ได้ขอจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ ในกรมแพทย์ทหารบกและในเวลาต่อมา ท่านได้เป็นคณบดี แผนกทันตแพทย์ คนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับได้ว่าวิชาชีพทันตแพทย์เกิดขึ้นในประเทศด้วยฝีมือของทหารอย่างแท้จริง

ในปี พ.ศ. 2488 กองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 1 ได้เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลทหารบก  มีการตั้งแผนกทันตกรรมเกิดขึ้นโดยมี พ.ต.ภักดี ศรลัมภ์ เป็นหัวหน้าแผนกคนแรก ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 โรงพยาบาลทหารบก ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า” 

Image
Image